มาตรฐานความปลอดภัยในอุปกรณ์เซฟตี้ที่ควรมี
มาตรฐานความปลอดภัยในอุปกรณ์เซฟตี้ที่ควรมี
มาตรฐานของหมวกนิรภัย, รองเท้าเซฟตี้ ช่วยให้ห่างไกลจากอันตราย
อุปกรณ์เซฟตี้หรืออุปกรณ์ความปลอดภัยส่วนบุคคล (PPE) เป็นอุปกรณ์ที่ป้องกันอันตรายหรือลดอาการบาดเจ็บที่เกิดจากการทำงานไม่ว่าจะเป็นสิ่งของตกหล่น, การสัมผัสความเย็นและความร้อน, สารเคมี, กระแสไฟฟ้า, การเจาะทะลุ, การลื่น ซึ่งเป็นอันตรายที่สามารถเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบจึงทำให้อุปกรณ์เซฟตี้มีหลายชนิดเพื่อให้สามารถป้องกันอันตรายทุกส่วนของร่างกายได้ เช่น หมวกนิรภัยป้องกันศีรษะจากการกระแทก รองเท้าเซฟตี้ป้องกันเท้าจากสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตราย เช่น น้ำเจิ่งนอง, มีสารเคมี หรือมีกระแสไฟฟ้า, การเจาะจากของแหลม ด้วยอุปกรณ์เซฟตี้ต้องเจอกับสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงต่ออันตรายจึงต้องมีมาตรฐานเพื่อคอยควบคุมดูแลให้เป็นอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพในการใช้งานได้เพราะหากไม่มีมาตรฐานอาจส่งผลให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อผู้ที่สวมใส่ได้
มาตรฐานอุปกรณ์เซฟตี้ที่ใช้ในประเทศไทยมีทั้งหมด 9 มาตรฐาน
มาตรฐานทั้ง 9 เป็นมาตรฐานที่มีการก่อตั้งทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศที่มีการกำหนดมาตรการความปลอดภัยที่มีจุดประสงค์ และวิธีการที่เหมือนและมีความแตกต่างกันแต่มีความสอดคล้องกับกฎหมายไทย โดยมาตรฐานความปลอดภัยทั้ง 9 มีดังนี้
มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมมีสัญลักษณ์คือ มอก.หรือ TIS
มาตรฐานสถาบันความปลอดภัยและอนามัยในการทำงานแห่งชาติประเทศสหรัฐอเมริกา (The national Institute for Occupational Safety and Health) สัญลักษณ์คือ NIOSH
มาตรฐานขององค์การมาตรฐานสากล (International Standardization and Organization) สัญลักษณ์คือ ISO
มาตรฐานสมาคมป้องกันอัคคีภัยแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Fire Protection Association) สัญลักษณ์คือ NFPA
มาตรฐานสถาบันมาตรฐานแห่งชาติประเทศสหรัฐอเมริกา (American National Standards Institute) สัญลักษณ์คือ ANSI
มาตรฐานสหภาพยุโรป (European Standards)มีสัญลักษณ์คือ EN หรือ CE
มาตรฐานอุตสาหกรรมประเทศญี่ปุ่น (Japanese Industrial Standards) สัญลักษณ์คือ JIS
มาตรฐานประเทศออสเตรเลียและประเทศนิวซีแลนด์ (Australia Standards/New Zealand Standards) สัญลักษณ์คือ AS/NZS
มาตรฐานสำนักงานบริหารความปลอดภัย และอาชีวอนามัยแห่งชาติ กรมแรงงาน ประเทศสหรัฐอเมริกา (Occupational Safety and Health Administration) สัญลักษณ์คือ OSHA
มาตรฐานของหมวกนิรภัย, รองเท้าเซฟตี้ สัญลักษณ์ความปลอดภัยของอุตสาหกรรม
มาตรฐานหมวกนิรภัย หมวกนิรภัยเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการป้องกันศีรษะจากการโดนของแข็งกระแทก การเจาะ และกระแสไฟฟ้า ซึ่งหมวกนิรภัยผลิตจากพลาสติกแข็ง โลหะ หรือไฟเบอร์กลาส จะมีสายรัดศีรษะและคางที่สามารถปรับขนาดให้เหมาะสมกับขนาดของศีรษะได้เพื่อให้แน่นหนาสำหรับการป้องกัน นอกจากนั้นหมวกนิรภัยยังสามารถติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันเพิ่มเติมได้ เช่น กระบังหน้า, ที่ปิดหู เพื่อครอบคลุมความปลอดภัยในการใช้งานให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งมาตรฐานของหมวกนิรภัยมีทั้งหมด 5 มาตรฐานด้วยกันคือ Osha Standard, ANSI/Isea Z89.1 standard, En Standard, CSA Z94.1 Standard และ มาตรฐาน มอก. ขอยกตัวอย่างรายละเอียดของ มาตรฐานหมวกนิรภัยของ ANSI โดยมีรายละเอียดดังนี้หมวกนิรภัยตามมาตรฐาน ANSI Standard Z89.1-2003 มาตรฐาน ANSI Standard Z89.1-2003 มีการกำหนดประเภทของหมวกนิรภัยและระดับของหมวกนิรภัยเพื่อให้สามารถทำการทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับประเภทของงาน โดยการทดสอบดังกล่าวเป็นการทดสอบขั้นพื้นฐานที่ใช้ทดสอบความแข็งแรงและทนทานในการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายร้ายแรงแต่ไม่สามารถป้องกันได้อย่างสมบูรณ์
ประเภทของหมวกนิรภัย
ตามมาตรฐาน ANSI Z89.1-2003 ได้แบ่งหมวกนิรภัยตามลักษณะของการป้องกันซึ่งมี 2 รูปแบบคือ ป้องกันกระแทกและป้องกันไฟฟ้า ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
หมวกนิรภัยประเภทที่ 1 ที่ลดการกันกระแทกจากด้านบนแต่ไม่สามารถกันการกระแทกจากด้านข้าง
หมวกนิรภัยประเภทที่ 2 ที่ลดการกันกระแทกทั้งด้านบนและด้านข้าง
หมวกนิรภัย ประเภท E ย่อมาจาก Electrical หมวกนิรภัยประเภทนี้ป้องกันไฟฟ้าได้ดี โดยจะต้องผ่านการทดสอบการป้องกันไฟฟ้าที่ 20,000 โวลต์
หมวกนิรภัย ประเภท G ย่อมาจาก General หมวกนิรภัยประเภทนี้จะต้องผ่านการทดสอบการป้องกันไฟฟ้าที่ 2,200 โวลต์
หมวกนิรภัยประเภทที่ C ย่อมาจาก Conductive หมวกนิรภัยประเภทนี้ไม่สามารถป้องกันไฟฟ้า และไม่มีการทดสอบการป้องกันไฟฟ้า
การทดสอบประสิทธิภาพหมวกนิรภัยของมาตรฐาน ANSI Z89.2003
การป้องกันการกระแทก ใช้ทดสอบหมวกนิรภัยประเภทที่ 1 และ 2 ซึ่งจะมีการสวมใส่จริงและทดสอบหมวกนิรภัยในสภาพอากาศเย็น 12 ประเภทและสภาพอากาศร้อน 12 ประเภท เพื่อทดสอบการกระแทกของหมวกนิรภัยในสภาพอากาศที่แตกต่างกันที่ความเร็ว ณ จุดกระทบ 5.5 เมตร/วินาที โดยวัตถุที่ใช้ในการทดสอบที่ตกกระทบควรมีน้ำหนัก 3.6 กิโลกรัม ซึ่งค่าการทดสอบและค่าเฉลี่ยจากการทดสอบทั้ง 24 สภาพอากาศจะต้องมีการบันทึก และความเร็วการตกกระทบของวัตถุค่าเฉลี่ยของแรงที่ส่งผ่านหมวกนิรภัยไม่ควรเกิน 3,780 นิวตัน
การเจาะทะลุ ใช้ทดสอบหมวกนิรภัยประเภทที่ 1 และ 2 โดยการทดสอบจะมีการสวมใส่จริงและวัตถุที่ใช้ในการทดสอบการเจาะจะต้องมีน้ำหนัก 1 กิโลกรัม โดยการพุ่งมาของวัตถุต้องพุ่งมาในบริเวณเส้นรอบวงรัศมีไม่เกิน 75 mm (3.0 นิ้ว) จากกึ่งกลางของหมวกนิรภัยและความเร็วที่เกิดจากการตกจากที่สูงจะต้องมีความเร็ว ณ จุดกระทบ 7 เมตร/วินาที ซึ่งหมวกนิรภัยที่มีประสิทธิภาพวัตถุที่มาเจาะไม่ควรติดกับเนื้อของหมวกนิรภัย
การป้องกันไฟ ใช้ทดสอบหมวกนิรภัยประเภทที่ 1 และ 2 โดยมีการสวมใส่จริงและพ่นไฟที่หมวกนิรภัยเป็นเวลา 5 วินาทีที่อุณหภูมิ 800-900 องศาเซลเซียส ซึ่งหลังการทดสอบบริเวณด้านนอกของหมวกนิรภัยไม่ควรมีร่องรอยของการไหม้
การป้องกันไฟฟ้า ใช้ทดสอบทั้งหมวกนิรภัยประเภทที่ 1, ประเภท 2, ประเภท E และ G โดยจะมีการทดสอบการป้องกันการกระแทกก่อนแล้วจึงจะทดสอบการป้องกันการรั่วของไฟฟ้าโดยประเภท E ทดสอบกับไฟฟ้าที่ 20,000 โวลต์ เป็นเวลา 3 นาทีที่ 9 มิลลิแอมป์และทดสอบการป้องกันการไหม้ที่เกิดจากไฟฟ้าที่ 30,000 โวลต์ หากมีประสิทธิภาพจะต้องไม่มีการรั่วและการเกิดรอยไหม้ หมวกนิรภัยป้องกันไฟฟ้าประเภท G จะต้องผ่านการทดสอบกับไฟฟ้าที่ 2,200 โวลต์ เป็นเวลา 1 นาทีที่ 3 มิลลิแอมป์
นอกจากนี้ยังมีการทดสอบประสิทธิภาพของหมวกนิรภัยอีก 3 การทดสอบ คือ การดูดซับพลังงานการกระแทก, การเจาะทะลุนอกเหนือจากศูนย์กลางหมวก และการคืนตัวของรองในหมวก ซึ่งใช้ทดสอบกับหมวกนิรภัยประเภทที่ 2 เท่านั้น และหมวกนิรภัยที่ผ่านการตรวจสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยจะต้องระบุเครื่องหมายมาตรฐาน ANSI, ชื่อ, สัญลักษณ์ของผู้ผลิต, วันที่ผลิต และขนาดบนหมวกนิรภัยตามมาตรฐานที่กำหนด มาตรฐานรองเท้าเซฟตี้ รองเท้าเซฟตี้เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ป้องกันความปลอดภัยบริเวณเท้าจากการตกหล่น การเตะ การสะดุด ลื่นไถล หรือการเจาะจากสิ่งของหรือปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง รองเท้านิรภัยมีทั้งแบบที่ใช้ในงานอุตสาหกรรมทั่วไปและใช้ในงานเฉพาะด้าน เช่น งานที่เกี่ยวกับกระแสไฟฟ้า มาตรฐานของรองเท้าเซฟตี้ต้องผ่านการทดสอบตามคุณสมบัติทั้ง 3 ข้อนี้ถึงจะผ่านมาตรฐานขั้นพื้นฐานได้ โดยมีการทดสอบดังนี้ 1. มีการป้องกันเท้าจากการกระแทก 2. การป้องกันเท้าจากการเจาะทะลุ 3. การป้องกันเท้าจากแรงกดทับ โดยอ้างอิงมาตรฐานการทดสอบตามมาตรฐาน ISO หรือมาตรฐานรองเท้าเซฟตี้ในแต่ละประเทศ มีกฎหมายและกฎระเบียบที่แตกต่างกันออกไป จึงส่งผลให้รองเท้าเซฟตี้ที่ผลิตแต่ละประเทศมีความแตกต่างด้านคุณสมบัติที่เพิ่มเติม ซึ่งมาตรฐานของรองเท้าเซฟตี้มีทั้งหมด 4 มาตรฐานด้วยกันคือ EN หรือ EN ISO, JIS, ASTM และ มาตรฐาน มอก. ขอยกตัวอย่างรายละเอียดของมาตรฐานรองเท้าเซฟตี้ตามมาตรฐานยุโรป EN ISO โดยมีรายละเอียดดังนี้ รองเท้าเซฟตี้มาตรฐาน EN ISO 20345: 2011 เป็นมาตรฐานที่ใช้ในสหภาพยุโรปมีการทดสอบอย่างเข้มงวดและมีข้อกำหนดคุณสมบัติที่แบ่งตามประเภทของรองเท้าเซฟตี้ โดยมีคุณสมบัติมาตรฐานพื้นฐานดังนี้
หัวของรองเท้าเซฟตี้ที่เป็นหัวเหล็ก ต้องสามารถต้านการกระแทกได้ 200 จูล
วัสดุเสริมพื้นรองเท้า แผ่นรองพื้นระหว่างชั้นนอกและชั้นในสามารถทนแรงทะลุได้ 1,100 นิวตัน
พื้นรองเท้าชั้นนอกต้องมีคุณสมบัติทนทานต่อน้ำมันและสารเคมี
พื้นรองเท้าชั้นนอกต้องมีคุณสมบัติทนทานต่อความร้อนได้ 160 °C, 360 °C
พื้นรองเท้าชั้นนอกต้องมีคุณสมบัติในการกันลื่น
รองเท้าเซฟตี้ที่ใช้กับงานไฟฟ้าต้องป้องกันไฟฟ้าสถิตได้
รองเท้าเซฟตี้ที่ทำจากหนัง หนังรองเท้าต้องสามารถระบายอากาศได้
นอกจากนี้รองเท้าเซฟตี้หัวเหล็กมาตรฐานยุโรป EN ISO 20345 ที่สามารถต้านทานแรงกระแทก 200 จูล เป็นระดับการป้องกันที่สูงสุด มีการแบ่งประเภทแยกย่อยเป็น Class I และ Class II ซึ่งในแต่ละ Class จะมีสัญลักษณ์และคุณสมบัติเพิ่มเติมดังนี้
ประเภท Class I เป็นรองเท้าเซฟตี้ที่ทำจากหนังและวัสดุอื่นที่ไม่ใช่ยางธรรมชาติหรือพอลิเมอร์สังเคราะห์ มีด้วยกัน 5 ชนิด
1.1 SB รองเท้าเซฟตี้ที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของมาตรฐาน หัวเหล็กป้องกันแรงกระแทกได้ 200 จูล
1.2 S1 รองเท้าเซฟตี้ที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของมาตรฐาน พื้นและบริเวณส้นสามารถต้านทานไฟฟ้าสถิตได้ ส้นรองเท้าดูดซับแรงกระแทกได้ และหัวเหล็กป้องกันแรงกระแทกได้ 200 จูล
1.3 S1P รองเท้าเซฟตี้มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของมาตรฐาน พื้นและบริเวณส้นสามารถต้านทานไฟฟ้าสถิต ส้นรองเท้าดูดซับแรงกระแทก มีชั้นตรงกลางของพื้นต้านทานการแทงทะลุ หัวเหล็กป้องกันแรงกระแทกได้ 200 จูล
1.4 S2 รองเท้าเซฟตี้ที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของมาตรฐาน พื้นและบริเวณส้นต้านทานไฟฟ้าสถิต ส้นรองเท้าดูดซับแรงกระแทก กันน้ำได้ และหัวเหล็กป้องกันแรงกระแทกได้ 200 จูล
1.5 S3 รองเท้าเซฟตี้ที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของมาตรฐาน พื้นและบริเวณส้นต้านทานไฟฟ้าสถิต ส้นรองเท้าดูดซับแรงกระแทกได้ กันน้ำได้ มีชั้นตรงกลางของพื้นต้านทานการแทงทะลุ หัวเหล็กป้องกันแรงกระแทก 200 จูล พื้นรองเท้าด้านนอกแบบมีปุ่ม
ประเภท Class II รองเท้าเซฟตี้ผลิตจากยางหรือพอลิเมอร์สังเคราะห์ มีด้วยกัน 3 ชนิด
2.1 SB รองเท้าเซฟตี้ที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของมาตรฐาน หัวเหล็กป้องกันแรงกระแทกได้ 200 จูล และกันน้ำได้
2.2 S4 รองเท้าเซฟตี้ที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของมาตรฐาน หัวเหล็กป้องกันแรงกระแทก 200 จูล ป้องกันไฟฟ้าสถิต และพื้นรองเท้าดูดซับแรงกระแทกได้
2.3 S5 รองเท้าเซฟตี้ที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของมาตรฐาน หัวเหล็กป้องกันแรงกระแทก 200 จูล มีชั้นตรงกลางของพื้นรองเท้าต้านทานการเจาะทะลุ ป้องกันไฟฟ้าสถิต ส้นรองเท้าดูดซับแรงกระแทก กันน้ำ และพื้นรองเท้าด้านนอกแบบมีปุ่ม
ทั้งนี้มาตรฐานรองเท้าเซฟตี้ EN ISO 20345 มีข้อบังคับให้ผู้ผลิตเพิ่มตัวอักษรระบุวัตถุประสงค์การใช้งานหรือสภาพแวดล้อมในการใช้งานรองเท้าเซฟตี้เพื่อให้สามารถเลือกใช้งานได้ถูกต้องและปลอดภัย เช่น สัญลักษณ์ SB, S1 และหากรองเท้าเซฟตี้มีคุณสมบัติพิเศษเพื่อรองรับการใช้งานที่เฉพาะมากยิ่งขึ้นจะมีสัญลักษณ์เพิ่มเติมด้านท้ายโดยมีสัญลักษณ์และความหมายดังนี้
P พื้นรองเท้าเสริมเหล็กป้องกันการเจาะทะลุ 1,100 นิวตัน
C รองเท้าสามารถป้องกันไฟฟ้าสถิตแบบตัวนำได้
A รองเท้าสามารถป้องกันไฟฟ้าสถิตได้
HI รองเท้ามีฉนวนป้องกันความร้อน
CI รองเท้ามีฉนวนป้องกันความเย็น
E พื้นรองเท้าสามารถช่วยดูดซับแรงกระแทกส้นเท้าได้ 20 จูล
WRU ส่วนบนของรองเท้าป้องกันน้ำซึมเข้ารองเท้าได้
HRO พื้นรองเท้าทนต่อความร้อน 300 องศาเซลเซียส นาน 1 นาที
ORO พื้นรองเท้าป้องกันน้ำมันได้
การเลือกใช้อุปกรณ์เซฟตี้ที่มีมาตรฐานจะช่วยป้องกันอันตรายที่ไม่ร้ายแรงและช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุที่ร้ายแรงได้ ทั้งนี้มาตรฐานอุปกรณ์เซฟตี้มีความแตกต่างกันตามกฎหมายหรือข้อบังคับของแต่ละประเทศที่ผลิต อุปกรณ์เซฟตี้อย่างหมวกนิรภัยและรองเท้าเซฟตี้เป็นอุปกรณ์ที่ในทุกอุตสาหกรรมจะต้องมีจัดเตรียมไว้สำหรับพนักงานเพื่อสร้างปลอดภัยในการปฏิบัติงานและเป็นอุปกรณ์เซฟตี้ที่นิยมในการใช้งานเพราะใช้ป้องกันส่วนของร่างกายที่สามารถเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายและนำไปสู่อันตรายที่ร้ายแรงได้ Jenstore by Jenbunjerd ศูนย์รวมเครื่องมือและอุปกรณ์ความปลอดภัย หมวกนิรภัย, รองเท้าเซฟตี้, ชุดป้องกันสารเคมี, หน้ากากกันสารเคมี, แว่นตานิรภัย, เข็มขัดกันตกเซฟตี้, ถุงมือกันไฟฟ้า ฯลฯ ที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานจึงปลอดภัยในการใช้งาน พร้อมยินดีให้คำปรึกษาการเลือกใช้งานและรับจัดหาสินค้าให้ตรงตามความต้องการ นอกจากนั้นยังมีบริการหลังการขายและการรับประกันคุณภาพสินค้าอีกด้วย
สนใจสินค้าติดต่อเรา
Website : https://www.jenstore.com (Live Chat) ฝ่ายขาย : 02-096-9999 (200 คู่สาย) Email : [email protected]บริการลูกค้า : 02-096-9898 ext 3102-3103 Email : [email protected] LINE Official Account: @jenstore Facebook : เจนสโตร์ - JenStore by Jenbunjerd
2023-09-25